หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2554

การเมือง-เศรษฐกิจอึมครึม! หุ้นตก เงินไหลออก บาทอ่อน



การเมือง-เศรษฐกิจ"อึมครึม" หุ้นตก เงินไหลออก บาทอ่อน (ไทยโพสต์)
         การปรับลดลงของดัชนีหุ้นไทยถึง  42.98 จุด หรือ 4.26% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 3.74  หมื่นล้านบาท เมื่อวันที่ 24 ม.ค. เรียกได้ว่าเป็น "กระต่ายตื่นตูม" และ "กระหน่ำขาย" ครั้งใหญ่อีกครั้งในตลาดหุ้นไทย นับตั้งแต่เกิดแรงเทขายอย่างหนัก เมื่อครั้งการประกาศใช้มาตรการควบคุมเงินทุนไหลเข้าระยะสั้น  30% ของธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2549  ที่ดัชนีตกต่ำสุดถึง 142.63 จุด ติดลบประมาณ 19.5% มูลค่าการซื้อขายสูงถึง 7.2 หมื่นล้านบาท และช่วงวิกฤติซับไพรม์ ช่วงวันที่ 6, 8, 10, 24, 27 ต.ค.2551 ที่ตลาดหุ้นลดลงประมาณ 200 จุด
         ประกอบกับสถานการณ์ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ ขณะนี้เริ่มเข้าโหมด "อึมครึม" ทั้งเรื่องม็อบหลากสี และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้เกิดคำถามว่า นักลงทุนเริ่มขาดความเชื่อมั่น และถึงเวลาที่จะขนเงินออกหรือยัง เพราะประเทศไทยไม่น่าอภิรมย์เหมือนปีที่ผ่านมา



         มุมมองจากภาคเอกชน นักธุรกิจ ทั้งในวงการตลาดเงิน ตลาดทุน มองเช่นนั้นหรือเปล่า

         นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล กรรมการรองเลขาธิการหอการค้าไทย กล่าวว่า ปัจจัยด้านการเมืองในขณะนี้เท่าที่ภาคเอกชนวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์อยู่ เชื่อว่ายังไม่มีสัญญาณที่จะกระทบต่อการดำเนินธุรกิจมากนัก
   
         อย่างไรก็ตาม หากเหตุการณ์เริ่มทวีความรุนแรงขึ้น มีเหตุการณ์ปะทะกันเหมือนเหตุการณ์เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว  แน่นอนว่าจะกระทบต่อภาคธุรกิจโดยทันที ทั้งภาคการค้า การลงทุน  รวมถึงการท่องเที่ยว ต้องสูญเสียรายได้ ซึ่งจะส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจทั้งหมด 
         ส่วนสัญญาณในเรื่องการลงทุนที่ในช่วงต้นสัปดาห์มีการเทขายหุ้นออกมาจากนักลงทุนต่างประเทศในมูลค่าที่มากจนทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของไทยตกลงมากนั้น เชื่อว่าไม่ได้เกิดจากปัจจัยทางด้านการเมืองในขณะนี้ น่าจะเกิดจากปัจจัยด้านอื่นๆ อย่างเช่นเศรษฐกิจจีน ที่มีความร้อนแรง จนนักลงทุนมีความวิตกกังวล หรือเกิดจากการเทขายหุ้นเพื่อทำกำไร และในตัวหุ้นในธุรกิจบางประเภทที่ไม่น่าสนใจ จึงทำให้เกิดการเทขายหุ้นออกมา
   
         "สถานการณ์ด้านการเมืองที่เกิดขึ้น  ยังไม่ถึงขั้นชี้เป็นชี้ตายในด้านการดำเนินงานการค้า  การลงทุน ซึ่งขณะนี้ภาคธุรกิจเองมองว่ายังเป็นสถานการณ์ที่ชินอยู่ แต่ก็มีความเป็นห่วงในเรื่องของความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นหากมีการปะทะกัน เพราะหากยังมีการประท้วงอยู่ในพื้นที่ของเขาอย่างสงบก็คงไม่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ แต่หากมีความรุนแรงขยายวงกว้างมากขึ้น จะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศทันที" นายพรศิลป์กล่าว
   
         นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองว่า รู้สึกแปลกใจว่าทำไมมีหลายกลุ่มหลายเรื่อง และเชื่อว่าข้อเรียกร้องหลายๆ เรื่อง รัฐบาลคงจะไม่สามารถให้ได้ตามที่ต้องการ   
         ในส่วนของภาคเอกชนไม่อยากเห็นเหตุการณ์เกิดขึ้นเหมือนช่วงปีที่ผ่านมา แต่การชุมนุมที่ยืดเยื้อ อาจทำให้เกิดอุปสรรคต่อการเดินทาง การทำงานและการลงทุนได้ หวังว่าเหตุการณ์การชุมนุมครั้งนี้จะไม่รุนแรงเท่ากับช่วงปีที่ผ่านมา  เพราะถ้าหากใครทำให้เกิดความรุนแรงขึ้นมาอีก  ก็คงไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนแน่
   
         "คงต้องให้เวลารัฐบาลชุดนี้ในการทำงานแก้ปัญหาอีกอย่างน้อย 3 เดือน ว่าจะสามารถแก้ปัญหาได้หรือไม่ เพราะเข้าใจว่ารัฐบาลตอนนี้มุ่งความสนใจไปที่การแก้ปัญหาทางการเมืองและการเลือกตั้งจนลืมการแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจ แต่หากแก้ปัญหาไม่ได้ ก็คงต้องมาดูกันอีกที" นายพยุงศักดิ์กล่าว
   
         นายธนิต โสรัตน์ รองประธาน ส.อ.ท.กล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศขณะนี้ว่า ภาคเอกชนบอกตั้งแต่ต้นแล้วว่าปี 2554 ปัจจัยเสี่ยงที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมี 3 ปัจจัยหลักๆ คือ เศรษฐกิจโลก 1.การเมืองภายในประเทศ 2.ภาวะเงินเฟ้อ 3.อัตราดอกเบี้ยและต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเรื่องปัญหาทางการเมืองภายในประเทศที่ขณะนี้มีการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อสีต่างๆ ที่เกรงว่าจะลุกลามไปใหญ่ ซึ่งทำให้ภาคเอกชนเกิดความกังวลต่อสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตแน่นอนว่ารัฐบาลจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้หรือไม่ เพราะขณะนี้มี 2 กลุ่มที่กดดันรัฐบาลอยู่
         "เรากังวลว่าเหตุการณ์จะวนกลับมาตกล็อกเดิมเหมือนช่วงเดือน  เม.ย.2553 ที่ผ่านมา  ซึ่งก็เป็นช่วงก่อนและหลังที่จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนผ่านประสบการณ์ที่รุนแรงที่สุดมาแล้ว ก็เชื่อว่าเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ไม่น่าจะรุนแรงมากนั้น ซึ่งทำให้ภาคเอกชนเบาใจไปได้ระดับหนึ่ง" นายธนิตกล่าว
   
         นายธนิตกล่าวว่า ต่อจากนี้คงต้องรอดูว่าหลังการเลือกตั้งผลจะออกมาเป็นอย่างไร แน่นอนว่าการที่เกิดการชุมนุมขึ้นในประเทศไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเสื้อสีอะไร ก็ย่อมทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนลดลง และยิ่งมีแนวโน้มว่าต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการจะขยับเพิ่มสูงขึ้น เช่น อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ก็น่าจะทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กๆ เกิดปัญหาสภาพคล่อง ทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้จนต้องล้มตายไป
   
         หันไปทางตลาดทุน ตลาดการเงินกันบ้างว่าวิตกแค่ไหน และมีข้อเสนอแนะอย่างไร   
         นายชนิตร ชาญชัยณรงค์ ผู้ช่วยผู้จัดการสายงานการตลาดศูนย์ระดมทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ mai คาดว่า หลังจากนี้แรงขายจากนักลงทุนต่างชาติคงไม่มากนัก หลังจากที่มียอดขายตั้งแต่วันที่ 1-28 ม.ค.ที่ประมาณ 2.7 หมื่นล้านบาท   
         เนื่องจากตั้งแต่วันที่  16 มิ.ย.2553-5 ม.ค.2554 นักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสะสมอยู่ที่  1 แสนล้านบาท ซึ่งในจำนวนยอดซื้อสะสมในช่วงที่ผ่านมา 1 แสนล้านบาท แบ่งเป็นบิ๊กล็อตประมาณ 4.7 หมื่นล้านบาท ฉะนั้นคงเหลือสัดส่วนในการขายหุ้นของนักลงทุนต่างชาติไม่มากนัก ซึ่งนักลงทุนไม่ควรกังวล นอกจากนี้ ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนคงจะทยอยประกาศออกมาและน่าจะมีเงินปันผล ซึ่งคงเป็นปัจจัยบวกต่อการลงทุน
   
         "อย่าเพิ่งกังวลไปกันมาก เพราะหุ้นไทยเพิ่งลงมา เพราะไม่ใช่นักลงทุนกลัวเงินเฟ้อ ซึ่งตามปกติแล้ว ถ้านักลงทุนกลัวเงินเฟ้อ กลุ่มอาหารก็ไม่น่าปรับลงมาแบบนี้ ส่วนหุ้นในกลุ่มปิโตรเคมีหลังวันที่ 5 ม.ค.ปรับลงมา 14% แต่ก่อนหน้านั้นขึ้นไปแล้ว 78% การปรับลงของหุ้นในครั้งนี้ ความเสี่ยงเรื่องการเมืองก็ยังคงมีอยู่ บวกกับการขายทำกำไร" นายชนิตรกล่าว

         นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ กล่าวว่า จากนี้ไปนักลงทุนต้องใช้ความระมัดระวังในการลงทุนค่อนข้างมาก เพราะเราไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่านักลงทุนต่างชาติจะกลับมาเทขายอีกหรือไม่ แม้ตัวเลขซื้อขายเมื่อวันที่ 25 ม.ค.ที่ผ่านมา จะเป็นตัวเลขซื้อขาย แต่การซื้อสุทธิที่ 607 ล้านบาทก็ยังอยู่ในระดับต่ำ   
         ขณะเดียวกัน มองว่าการที่ดัชนีหุ้นไทยจะยืนเหนือแนวต้านที่ 1,000 จุดในขณะนี้ คงเป็นเรื่องค่อนข้างยาก เพราะมองว่าแม้ดัชนีตลาดหุ้นจะสดใส แต่นักลงทุนก็ยังแฝงด้วยความกลัวอยู่ แต่เชื่อว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ดัชนีน่าจะกลับมายืนอย่างมั่นคงได้

         ส่วนสถานการณ์การเมืองในประเทศ แม้จะมีการชุมนุมของคนหลายกลุ่ม แต่ก็เชื่อว่ายังไม่ถึงขั้นวิกฤติ เพราะการชุมนุมช่วงที่ผ่านมาก็ไม่ได้เกิดความรุนแรงอะไร ส่วนการที่รัฐบาลจะประกาศยุบสภาแล้วมีการเลือกตั้งใหม่นั้น ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะส่งผลบวกหรือลบกับตลาดหุ้นไทย เพราะต้องพิจารณาจากหลายปัจจัย เช่น หากรัฐบาลเดิมทำงานถูกใจนักลงทุน และมีการคาดการณ์ว่าจะได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีก ก็จะส่งผลให้ดัชนีปรับตัวขึ้น แต่หากรัฐบาลนั้นทำงานไม่ถูกใจนักลงทุน ผลที่ได้รับกลับมาก็จะเป็นทิศทางตรงกันข้าม
   
         ด้าน น.ส.อุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ประเทศไทย) ระบุว่า ทิศทางการเคลื่อนไหวค่าเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐในระยะนี้ยังคงลักษณะผันผวนในเชิงอ่อนค่า เนื่องจากแนวโน้มเงินทุนยังไหลออกนอกภูมิภาครวมทั้งไทย เนื่องจากปัจจัยด้านความกังวลของนักลงทุนต่างชาติต่อการเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อในเอเชีย ทำให้นโยบายการเงินมีความเข้มงวดขึ้น ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการขยายตัวเศรษฐกิจ ประกอบกับผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไม่ได้เป็นไปตามที่นักลงทุนคาดการณ์ไว้
         นอกจากนั้น ดอลลาร์สหรัฐยังมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักในภูมิภาคเอเชีย ทำให้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เคยลงทุนและสะสมไว้ก่อนหน้านี้ลดลงหรือขาดทุนกำไร โดยปี 2553 เงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า 3 บาท แต่ตอนนี้เงินอ่อนค่าลง 1 บาท ทำให้นักลงทุนเล่นรอบ เทขายเพื่อปิดความเสี่ยงไปก่อน

         ทั้งนี้ ธนาคารประเมินว่าค่าเงินในช่วงแรกปีนี้จะอ่อนค่าแตะระดับ 31.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่อาจจะเกิดขึ้นได้เร็วกว่าคาดการณ์เดิมมาเป็นในไตรมาสแรกปีนี้น่าจะได้เห็น

         อย่างไรก็ตาม การเทขายสินทรัพย์ในภูมิภาคเอเชียรวมทั้งไทยของนักลงทุนต่างชาติเป็นการปรับฐานะเงินตราต่างประเทศใหม่ หลังจากมุมมองของนักลงทุนต่อภาวะเศรษฐกิจสหรัฐปรับตัวดีขึ้น ทำให้ทางการสหรัฐอาจไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการ QE3 ในช่วงครึ่งแรกปี 2554 นอกจากนั้นอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินสหรัฐก็เริ่มขยับขึ้น และเป็นแรงกระตุ้นให้มีการปรับฐานเงินตราต่างประเทศ
         จากความคิดเห็นของภาคเอกชน นักวิชาการ มองตรงกันว่า "เสถียรภาพ" เท่านั้นที่จะสามารถสร้าง "ความเชื่อมั่น" ให้กับนักลงทุนได้ โดยเฉพาะเสถียรภาพด้าน "การเมือง"



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ไทยโพสต์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น